มมร.อส.ศูนย์การศึกษาหนองบัวลำภู

 

ข้อมูลเบื้องต้นมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน ศูนย์การศึกษาหนองบัวลำภู

1. ชื่อมหาวิทยาลัย
ภาษาไทย         : มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน ศูนย์การศึกษาหนองบัวลำภู
อักษรย่อ คือ      : มมร.อส.นภ.
ภาษาอังกฤษ     : Mahamakut   Buddhist  University Isan Campus Nongbualamphu Education Center
อักษรย่อ  คือ     : MBUISC.NB.
2. ศาสนสุภาษิตประจำมหาวิทยาลัย
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส
ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ  เป็นผู้ประเสริฐในหมู่เทพและมนุษย์
3. สีประจำมหาวิทยาลัย
สีส้ม  หมายถึง  สีประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี  อันเป็นวันพระราชสมภพ
4. ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
ต้นโพธิ์  ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
5. คติพจน์ประจำตัวนักศึกษา
ระเบียบ   สามัคคี  บำเพ็ญประโยชน์     
6. ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
6.1 พระมหามงกุฎ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4  พระผู้ทรงเป็นที่มาแห่งนาม  “มหามกุฏราชวิทยาลัย”
6.2 พระเกี้ยวประดิษฐานแบบหมอนรอง หมายถึง  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  5  ซึ่งทรงเป็นผู้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย และพระราชทานทรัพย์บำรุงปีละ  60  ชั่ง
6.3 หนังสือ   หมายถึง  คัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนา  โดยที่มหามกุฏราชวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งผลิตคัมภีร์และตำราทางพระพุทธศานา สำหรับส่งเสริมการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา
6.4 ปากกาปากไก่  ดินสอ  และม้วนกระดาษ  หมายถึง  อุปกรณ์ในการศึกษาเล่าเรียน  ตลอดถึงอุปกรณ์ในการผลิตคัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนา  เพราะมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็นทั้งสถานศึกษาและแหล่งผลิตตำราทางพระพุทธศาสนา
6.5 ช่อดอกไม้แย้มกลีบ         ในทางการศึกษาหมายถึง  ความเบ่งบานแห่งสติปัญญาและวิทยาความรู้  แต่ในทางพระศาสนาหมายถึง  กิตติศัพท์  กิตติคุณ  ที่ฟุ้งขจรไปดุจกลิ่นแห่งดอกไม้โดยมีความหมายรวม คือความเจริญรุ่งเรืองและเกียรติยศ  อิสริยยศ  บริวารยศ
6.6 พานรองรับหนังสือหรือคัมภีร์   หมายถึง  มหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นสถาบันเพื่อความมั่นคงและแพร่หลายของพระพุทธศาสนา  ทั้งในด้านการศึกษาและการเผยแผ่
6.7 วงรัศมี   หมายถึง  ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่บังเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมหามกุฏราชวิทยาลัยภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ไทย
6.8 มหามกุฏราชวิทยาลัย   หมายถึง  สถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรี , โท , เอก  ปัจจุบัน  คือ  “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย”
7. สถานที่ตั้ง
137 หมู่ 9 วัดพิศาลรัญญาวาส (พระอารามหลวง) ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู  39000
8. การติดต่อ
โทรศัพท์  042-360920
โทรสาร  042-360920
www.mbuisc.ac.th/nongbua
9. ประวัติโดยสังเขป
ประวัติความเป็นมาโดยสังเขปของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน ศูนย์การศึกษาหนองบัวลำภู อาจจำแนกตามระยะเวลาที่ได้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2553) ดังนี้
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทย และมีส่วนสำคัญในการสร้างรากฐานวัฒนธรรมทางจิตใจให้แก่เยาวชนไทย สังคมไทยในปัจจุบันกำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งในด้านสภาพสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ แนวความคิดและการกระทำ มีการแข่งขันกันมากขึ้น มุ่งเน้นวัตถุนิยมหรือบริโภคนิยมมากขึ้น ทำให้วิถีทางการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมก่อให้เกิดความเห็นแก่ตัว ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ทางสังคม เช่น  การเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น การทุจริต การมัวเมาในสิ่งเสพติด ฉะนั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสภาวะสังคมที่มีการแข่งขันกันสูง สถาบันต่างๆ ในสังคม เช่น สถาบันศาสนา สถาบันโรงเรียน และสถาบันครอบครัว ควรตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชนในวัยเรียนสมควรได้รับการ อบรม สั่งสอน และวางพื้นฐานการประพฤติปฏิบัติทางคุณธรรม จริยธรรม  เพื่อให้เยาวชนเหล่านั้นเจริญเติบโตเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมต่อไป
การศึกษาเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งที่ช่วยให้มนุษย์สามารถพัฒนาคุณภาพและศักยภาพให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข  และเกื้อกูลต่อการพัฒนาประเทศชาติได้อย่างเหมาะสม  ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุก ๆ ด้าน  สืบเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาการ  ระบบการสื่อสารที่ไร้พรมแดนและการติดต่อสัมพันธ์กับสังคมโลกอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2533  สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยได้อนุมัติให้สถาปนาวิทยาเขตแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จังหวัดขอนแก่น ต่อมาในปีพุทธศักราช 2540  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ว่าโดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  เป็นนิติบุคคลมีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีชื่อใหม่ว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  วิทยาเขตอีสาน และได้ย้ายจากวัดศรีจันทร์ ไปอยู่ที่บ้านโนนชัย ถนนราษฎร์คนึง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง  จังหวัดขอนแก่น  บนเนื้อที่ 37  ไร่ 3 งาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการสถาปนา ดังนี้ คือ
1. เพื่อเป็นสถานศึกษาด้านพระพุทธศาสนา
2. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาวิทยาการอันเป็นของชาติภูมิและต่างประเทศ
3. เพื่อให้ศาสนทายาทได้เป็นกำลังในการจรรโลงพระพุทธศาสนา และเป็นศาสนทายาทที่เหมาะสมกับกาลสมัย
4. เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการศึกษา ค้นคว้า วิจัยทางพระพุทธศาสนาและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม   ประติมากรรมทางพระพุทธศาสนา
ทั้งนี้  ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการประจำวิทยาเขตอีสาน  โดยมีพระมหาสาคร ชิตงฺกโร รองอธิการบดี  เป็นประธานกรรมการมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  วิทยาเขตอีสาน  ได้แบ่งส่วนการบริหารงานออกเป็น 3 ส่วนงาน คือ
1. สำนักงานวิทยาเขต
2. ศูนย์บริการวิชาการ
3. วิทยาลัยศาสนศาสตร์
10. โครงสร้างการแบ่งส่วนงานและการบริหาร
การจัดรูปแบบการบริหารมหาวิทยาลัย เป็นการจัดตามความในมาตราที่เกี่ยวข้องในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 และเป็นการจัดตามรูปแบบของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตามความในมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้รัฐมนตรี (กระทรวงศึกษาธิการ) มีอำนาจและหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 คือ “มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริม และให้บริการวิชาการทางพระพุทธศาสนา แก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ รวมทั้งการทะนุบำรุงศิลปวัฒธรรม”
การจัดโครงสร้างและระบบการบริหารมหาวิทยาลัย ในแต่ละหน่วยงานหรือองค์กรมีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ตามความในมาตรานั้น ๆ โดยอาจจำแนกองค์กรหรือหน่วยงานหลัก ๆ ได้ดังนี้
(1) สภามหาวิทยาลัย               (2) สภาวิชาการ
(3) สำนักงานอธิการบดี             (4) สำนักงานวิทยาเขต
(5) บัณฑิตวิทยาลัย                 (6) คณะ
(7) สถาบัน                           (8) สำนัก
(9) ศูนย์                              (10) วิทยาลัย
11.  กระบวนการบริหารและการตัดสินใจ
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีกระบวนการบริหารและการตัดสินใจในระดับต่างๆ โดยการกระจายอำนาจไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อการบริหารตน เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วน เสีย ได้มีส่วนร่วมในการบริหาร ตัดสินใจ และร่วมจัดการศึกษา นอกจากนี้ได้มีองค์กรอิสระตรวจสอบและควบคุมเท่าที่จำเป็นทำให้มีอิสระและคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรนั้นๆ
12.  บทบาทและภารกิจของผู้บริหาร
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีบทบาทและภารกิจทางด้านการบริหารในระดับต่างๆ ดังนี้
(1) ระดับอธิการบดี อธิการบดีมีบทบาทและภารกิจทางด้านการบริหาร ตามความในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540
(2) ระดับรองอธิการบดี รองอธิการบดี มีบทบาทและภารกิจ ตามความในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้ทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมาย
(3) ระดับคณะกรรมการประจำวิทยาเขต ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 มาตรา 31 กำหนดให้วิทยาเขตมีคณะกรรมการประจำวิทยาเขต และการประชุมของคณะกรรมการประจำวิทยาเขต ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
(4) ระดับรองอธิการบดีประจำวิทยาเขต รองอธิการบดีประจำวิทยาเขต มีบทบาทและภารกิจ ตามความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ที่กำหนดไว้ว่า ในวิทยาเขตหนึ่งให้มีสำนักงานวิทยาเขต โดยมีรองอธิการบดีซึ่งเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงานของวิทยาเขตตามที่อธิการบดีมอบหมาย
13.  ปรัชญา  (Philosophy)
“ความเป็นเลิศทางวิชาการ   ตามแนวพระพุทธศาสนา”
Academic  Excellence  based   on  Buddhism
14.  ปณิธาน  (Aspiration)
มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตทางพระพุทธศาสนาให้มีความรู้คู่คุณธรรมมีความสามารถในการคิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น และคิดดี พูดดี ทำดีตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา
15.  วิสัยทัศน์  (Vision  Statements)
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน เป็นสถาบันที่ผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ดี มีความประพฤติดี ดำรงชีพในสังคมด้วยพรหม  วิหารธรรม เป็นแหล่งรวมของความรู้และผู้เชี่ยวชาญวิชาการด้านพระพุทธศาสนา  ที่สามารถชี้นำสังคมและยุติข้อขัดแย้งด้านวิชาการพระพุทธศาสนาได้เป็นสถาบันที่มีระบบบริหารและระบบจัดการได้มาตรฐานสากล
16.  พันธกิจ  (Mission  Statements)
1. ผลิตบัณฑิตทางด้านพระพุทธศาสนา ให้มีคุณสมบัติตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยและกระจายโอกาสให้พระภิกษุสามเณร คฤหัสถ์ และผู้สนใจมีโอกาสศึกษามากขึ้น
2. วิจัยและพัฒนางานด้านวิชาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางด้านวิชาการพระพุทธศาสนาใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ และเผยแผ่องค์ความรู้ในระบบเครือข่ายการเรียนรู้ที่ทันสมัย
3. สร้างเสริมให้บริการวิชาการแก่สังคม ชุมชนและท้องถิ่น โดยเฉพาะวิชาการทางพระพุทธศาสนา เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และสร้างสันติสุขให้เกิดในสังคม ชุมชนและท้องถิ่น สามารถชี้นำสังคมและยุติข้อขัดแย้งในหลักวิชาการพระพุทธศาสนา และจริยธรรม
4. รวบรวมและจัดเก็บข้อมูล ด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรมเพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งค้นคว้า ทำนุบำรุงรักษาภูมิปัญญาไทยและท้องถิ่น รวมทั้งสร้างชุมชนที่เข้มแข็งเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม
5. ปรับปรุงระบบบริหารจัดการมหาวิทยาลัยให้ได้มาตรฐานสากล
17.  วัตถุประสงค์  (Objectives)
1. ผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ ทั้งทางด้านความรู้และความประพฤติ
2. สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีภูมิคุ้มกัน และมีคุณภาพ
3. สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
4. สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน
5. สร้างระบบการบริหารองค์การให้เป็นองค์การที่มีมาตรฐานสากล

 

 

 

 


พระครูปลัดธรรมจริยวัฒน์,ดร.
รักษาการแทนรองอธิการบดี
มมร.วิทยาเขตอีสาน

พระมหาสมัย  ผาสุโก,ดร.
ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ
หัวหน้าศูนย์การศึกษาหนองบัวลำภู